เทศบาลตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ : www.poncity.go.th

 
 
สถานที่ท่องเที่ยว

 
ศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา
             ศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา เป็นแหล่งที่แสดงถึงภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวผู้ไทย มีบ้านเรือนไทย 4 หลัง และศูนย์พิพิธภัณฑ์ผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา




                  คนรักผ้าไหมทอมือ  ผ้าไหมในฐานะงานศิลปะที่เชิดชูวัฒนธรรม  ผ้าไหมในฐานะแพรพรรณอันสวยงาม  คนทั่วทุกมุมโลกที่สนใจผ้าไหมไม่เคยพลาดที่จะไปเที่ยวบ้านโพน  อ.คำม่วง  จ.กาฬสินธุ์

                  บ้านโพน  เป็นหมู่บ้านของชาวผู้ไทยซึ่งมีวัฒนธรรมที่เจริญมานาน  ชาวผู้ไทยไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนจะมีชีวิตที่สงบสุข  สวยงาม  บ้านโพนเหมือนหมู่บ้านย้อนยุคเก็บอดีตที่ชัดเจนไว้จนถึงปัจจุบัน  ชาวบ้านโพนมีวัฒนธรรมเป็นพี่น้องกันทั้งหมู่บ้าน  ประกอบด้วย  พ่อ  แม่  ลูก  พี่น้องที่มาจากสายเลือดเดียวกันและครอบครัวที่เป็นลูกล่าม  ลูกที่ผูกพันกันของพ่อแม่ที่ไม่ใช่พ่อแม่ที่ให้กำเนิด  แต่เป็นผู้ที่ทำหน้าที่มาสู่ขอและเป็นประธานทำพิธีแต่งงานให้  พ่อแม่ที่เป็นผู้สู่ขอคู่แต่งงานนี้  จะทำหน้าที่เป็นล่ามให้คู่แต่งงานตลอดชีวิต  กรณีที่คู่แต่งงานมีปัญหา  พ่อแม่ล่ามจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยแก้ปัญหาแทนพ่อแม่ที่ให้กำเนิด


 



 

ถิ่นกำเนิดแพรวา

                ชาวผู้ไทยไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนจะรักการทอผ้า  ผ้าไหมทอลวดลายพิเศษของชาวผู้ไทยมีถิ่นกำเนิดที่บ้านโพนแล้วดังไปทั่วโลก  เรียกว่า  ผ้าแพรวา  แพร  หมายถึง  ผ้า  และ  วา  หมายถึง  ความยาว  1  วา  คือ  2  เมตร  ผ้าแพรวาในอดีตจะทอหน้าแคบ  ยาว  แต่ปัจจุบันพัฒนาให้เป็นผ้าทอหน้ากว้าง

 

ทำไมจึงต้องเป็นแพรวา

                แพรวานั้นมีลวดลายวิจิตรพิสดารกว่าผ้าไหมที่อื่นจนขึ้นชื่อว่า  แพรวาราชินีแห่งไหม  ความงามอันเลื่องลือนี้เกิดจากลวดลายของแพรวา  ซึ่งมีลวดลายที่แตกต่างกันถึง  60  ลาย  ผู้ที่ชื่นชอบแพรวาเลือกลายและขนาดตามที่ตนชอบ  อาทิ  แพรวาลายเกาะ  แพรวาลายล่วง  (แพรวา  2  สี)  ผ้าสไบ  10  ลาย  ผ้าพันคอ  ผ้าแพรวา  3  สี  สไบเล็กใหญ่  รวมทั้งแพรวาที่เป็นผ้าปูกลางโต๊ะ  ผ้ารองจานซึ่งพัฒนามาจากผ้าแพรมน  ซึ่งเป็นผ้าพันผมเมื่อแต่งกายแบบบ้านโพนเต็มชุด  วิถีชาวบ้านโพนทุกคนจะผูกพันและทุ่มเทให้กับแพรวา  ซึ่งนับวันลวดลายของแพรวาจะเปล่งประกายท้าทายให้ทุกคนมาพบกับศิลปินพื้นบ้าน  ซึ่งเป็นผู้ถักทอแพรวาอันสวยงามนี้ให้กับทุกคนในโลก


 

 


 

มาเที่ยวบ้านโพนกันดีกว่า

                ด้วยวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมการเปลี่ยนของสังคมในชุมชนยังมีน้อย  บ้านโพนจึงเหมะสำหรับเป็นที่ท่องเที่ยว  ที่พักผ่อนในท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์  จุดเด่นของบ้านโพน  ได้แก่  อากาศที่ไม่ร้อนอบอ้าว  อาหารพื้นบ้านจะเป็นอาหารธรรมชาติ  ที่ไม่มีสารพิษ  เพราะชาวบ้านโพนนิยมรับประทานผักประเภทใบจากต้นไม้ใหญ่  ใบไม้ที่มีรสเปรี้ยว  มีกลิ่นหอม  จะนำมารับประทาน  ดิบ ๆ กับอาหารประเภทยำ  หลน  หรืออาหารสำคัญของชาวอีสาน  คือ  ปลาร้าปรุงแบบต่าง    และส้มตำ  แกงที่เป็นอาหารพื้นบ้านจานเด็ด  ได้แก่  แกงไก่บ้านใส่หนอหวายอ่อน ๆ  รสชาติหวานซ่อนขมของยอดหวาย  อร่อยจนลืมไม่ลง  ไก่บ้านและน้ำจิ้มสูตรเด็ดของบ้านโพนที่ทำใหม่ทุกวัน

 

ชาวบ้านโพน

เสน่ห์ของบ้านโพนไม่เพียงแต่ผ้าแพรวา  แต่ชาวบ้านโพนสร้างชมชนที่สงบสวยงามด้วยวัฒนธรรมการกินอยู่อย่างพอเพียง  ชาวบ้านโพนนอกจากขยันจนหาคนอื่นเทียบยากแล้ว  ยังเป็นผู้รู้จักเก็บออมไม่สุรุยสุร่าย  บ้านโพนจึงเป็นเหมือนเมืองในฝันที่หยุดเวลารักษาอดีตให้เราได้สัมผัสในวันนี้  ดนตรีที่ขับกล่อมบ้านโพนคือ  โปงลาง  หากไปเที่ยวบ้านโพนต้องพักอยู่กับครอบครัวชาวผู้ไทย  (โฮมสเตย์)  จะได้บรรยากาศอบอุ่นแบบพี่น้อง  เนื่องจากชาวบ้านโพนเป็นคนอ่อนหวาน  สุภาพ  ช่างเอาใจอยู่ในสายเลือด






 

วัดป่ารังสีปาลิวัน

                ผู้ไทยที่บ้านโพนเป็นชาวพุทธ  ที่วัดป่ารังสีปาลิวัน  มีพระบรมฐาตุเจดีย์ฐิตสีลมหาเถรานุสรณ์เป็นเจดีที่สง่างามตามคติพุทธศาสนา  แฝงด้วยสัญลักษณ์ของการเป็นตัวตนของการเป็นตัวตนของชุมชนบ้านโพนโดยใช้แพรวาเป็นสื่อ  ภายในมีพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุของเกจิอาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว





           

กว่าจะมาเป็น ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา เฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกิดจากความร่วมมือของชาวชุมชนบ้านโพนและชุมชนใกล้เคียงร่วมกับเทศบาลตำบล โพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ในการศึกษาข้อมูลเพื่อจัดทำโครงการก่อสร้างศูนย์แห่งนี้ โดยได้รับความร่วมมือด้านวิชาการจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตรศิลป์และคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามในการศึกษาออกแบบและจัดเก็บรวบรวมข้อมูลของชุมชนเพื่อ จัดแสดง ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากจังหวัดกาฬสินธุ์ในการจัดหางบประมาณผ่าน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด จนได้รับการอนุมัติงบประมาณก่อสร้างจากรัฐบาล เมื่อปี ๒๕๕๖ จนแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๗ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญา และความภูมิใจของชาวชุมชนบ้านโพนและจังหวัดกาฬสินธุ์ในการอนุรักษณ์มรดกด้าน ภูมิปัญญาของชาติที่สำคัญอีกหนึ่งแห่ง